Saturday, October 15, 2016

สายสัมพันธ์ทางทหาร‘รัสเซีย-จีน’ก้าวกระโดดไปอีกก้าวใหญ่


จีนกับรัสเซียกำลังจัดการซ้อมรบทางนาวีร่วมกันในทะเลจีนใต้ จากรายละเอียดกิจกรรมที่เปิดเผยออกมา ชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่การฝึกตามกิจวัตรปกติ หากแต่เป็นหลักหมายแสดงถึงก้าวกระโดดไปข้างหน้าในสายสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง

ผ้าที่ปิดคลุมแผนการซ้อมรบทางนาวีร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซียในทะเลจีนใต้ ได้ถูกเปิดออกมาแล้วในที่สุดหลังจากที่เฝ้ารอกันมานานทีเดียว จากสิ่งที่ปักกิ่งเผยให้เห็นในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน เกี่ยวกับการฝึกซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า “จอยต์ ซี-2016” (Joint Sea-2016) โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 8 วันเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 กันยายนคราวนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่จะเรียกว่าเป็นการฝึกตามกิจวัตรปกติได้เลย อย่าได้สำคัญผิดเป็นอันขาด นี่เป็นหลักหมายแสดงถึงการก้าวกระโดดไปข้างหน้าในสายสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับรัสเซีย และก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องลงรอยกันในทางยุทธศาสตร์อย่างสำคัญ

Wednesday, October 5, 2011

จีนประกาศอหังการ ติดจรวดต้าน "โทมาฮอว์ค" แล้วเสร็จ ทะเลใต้เริ่มสูสี

กระทรวงกลาโหมจีนได้ออกยืนยันเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ การนำเข้าประจำการจรวดแบบพื้นสู่อากาศพิสัยกลางรุ่นใหม่สมรรถนะสูง ในการต่อต้านขีปนาวุธข้าศึกที่ยิงโจมตีภาคพื้นดินจากระยะไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจรวดร่อนโทมาฮอว์ค (Tomahawk) ที่สหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธโจมตีหลักในปัจจุบัน

กองทัพประชาชนจีนตีพิมพ์เรื่องนี้ในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมในวันอังคาร 4 ก.ค.นี้ หลังจากปรากฏเป็นข่าวผ่านในนิตยสาร "กองทัพเรือทันสมัย" ของกองทัพเรือจีนฉบับใหม่ที่ออกปลายสัปดาห์ที่แล้ว

จีนได้นำจรวด SAM (Surface-to-Air Missile) แบบหงฉี-16 (Hongqi-16) เข้าประจำการและติดตั้งในเขตปริมณฑลกองทัพมณฑลเสิ่นหยาง (Shenyang Military Region) แล้วเสร็จ และยังทำอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับติดตั้งบนเรือฟริเกตแบบ 054A ของกองทัพเรือ เพื่อปฏิบัติในทะเลอีกด้วย เว็บไซต์กระทรวงกลาโหมกล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่จีนได้ออกเปิดเผยเกี่ยวกับเขี้ยวเล็บล่าสุด โดยจรวด "ธงแดง-16" หรือ HQ-16 ควบคุมด้วยระบบที่สามารถตรวจจับขีปนาวุธข้าศึกที่พุ่งสู่เป้าหมายในระยะต่ำกว่า 10 เมตร ใกล้พื้นดินหรือผืนน้ำได้ ห่างออกไปถึง 40 กม. ไกลพอสำหรับการทำงานของระบบจรวดต่อต้าน

จรวดธงแดง-16 นี้ ได้ช่วยอุดข้อด้อยของระบบจรวดพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้ HQ-7 กับระบบจรวดพิสัยไกล HQ-9 และ HQ-12 ที่ใช้ในปัจจุบันได้อย่างดี

Wednesday, August 31, 2011

ศตวรรษที่ 21: หรือจะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ?

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ได้มีการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "ศตวรรษที่ 21: ศตวรรษแห่งเอเชีย ?" โดยอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล โดยมีดร.ปราณี ทิพย์รัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์วรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษากล่าวว่า ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้จีนกำลังผงาดขึ้นมามีอิทธิพลในเวทีโลกในปัจจุบันนั้น ได้แก่การที่จีนได้บทเรียนจากยุคอาณานิคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นจีนปฏิเสธไม่ยอมรับความรู้ใหม่ๆ อีกปัจจัยหนึ่งคือนโยบายต่างประเทศของจีน ที่มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็ไม่ให้เพื่อนบ้านเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในในประเทศอื่นๆ ทว่าจีนกลับได้ผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของอิรัก หรือพม่า


แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน แต่จีนได้ให้คำอธิบายการปกครองตนว่า "เอกภาพและเอกราชย่อมต้องมาก่อนเรื่องของสิทธิมนุษยชน" ในกรณีการดำเนินนโยบายในประเทศแบบที่ไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในตน

"นอกจากนี้การที่จีนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องของภาษาจีน และในด้านอื่นๆก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนการขึ้นมามีบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่อย่างไรก็ดี ประเทศจีนก็ต้องประสบกับข้อจำกัดด้วยเช่นกัน ทั้งข้อจำกัดในเรื่องจำนวนประชากร ซึ่งจะไปกระทบกับความมั่นคงทางอาหารรวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกมาก โจทย์ของจีนคือการทำอย่างไรให้ประชากรที่มีอยู่จำนวนมากนั้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพด้วยซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันจีนได้หันมาเน้นในเรื่องของการศึกษาเป็นอย่างมาก"

"ผมคิดว่าเมื่อใดที่จีนมีประชากรที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพด้วยอันนั้นจะน่ากลัว"
นายวรศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้นายวรศักดิ์ยังได้กล่าวถึงการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของจีนด้วยว่าการที่ในปัจจุบันจีนได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทว่ายังคงเลือกที่จะให้มีการปกครองแบบรวมศูนย์ ปฏิเสธการเมืองการปกครองแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยนั้นมีข้อควรระวังที่ว่า จากระบอบดังกล่าว หากมีการทุจริตขึ้นมาเมื่อใด เมื่อนั้นประเทศจีนจะต้องประสบกับปัญหาแน่นอน



ทางด้านนายสุรัตน์ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา กล่าวว่า การจะเป็นประเทศมหาอำนาจนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยี ความพร้อมทางการทหาร วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดียในตอนนี้นั้น กลับพบว่าภายในประเทศเหล่านี้มีปัญหาภายในประเทศมากมาย แม้ว่าปัจจุบันอินเดียจะมีตัวเลขจีดีพีต่อหัวที่สูง แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ก็มีอยู่สูงเช่นกัน

"หรือว่าคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องรองลงมาจากเรื่องของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ?ภายใต้เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เราต้องเร่งเหยียบคันเร่งทางเศรษฐกิจ-ทางทหาร ซึ่งแม้แต่ในประเทศตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องประสบกับปัญหาเช่นนี้"

"บ้านคนอังกฤษในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นของธนาคารทั้งนั้น"

สุดท้ายนายสุรัตน์ได้โยนคำถามไปให้ผู้ร่วมเสวนาร่วมกันคิดว่า"จากโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าว

สุดท้ายแล้วมหาอำนาจนั้นคืออะไรกันแน่ การเป็นมหาอำนาจแบบสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้นใช่คำตอบรึเปล่า?"

Thursday, August 18, 2011

รู้จัก 'สีจิ้นผิง' (Xi Jinping 习近平) ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของจีน

  “สีจิ้นผิง” (Xi Jinping 习近平) เป็นรองประธานาธิบดีในปัจจุบันและถูกคาดหวังว่าจะมาแทนประธานาธิบดี “หูจิ่นเทา” วันนี้

เดิมตำแหน่งของสีจิ้นผิง มีแค่รองประธานาธิบดี แต่เมื่อมีคำประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ให้เขาเป็น “รองประธานคณะกรรมการกลางกิจการทหาร” ของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ก็เท่ากับยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า เขาคือทายาทตัวจริงของผู้นำคนปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

กองทัพจีนที่เรียกอย่างเป็นทางการ ว่า “กองกำลังปลดแอกแห่งชาติ” มีกำลังทั้งหมด 2 ล้านคน และหากยังเชื่อตามคำขวัญของเหมาเจ๋อตุงที่ว่า “อำนาจการเมืองมาจากปากกระบอกปืน” ก็คงเห็นชัดว่าใครที่กุมปากกระบอกปืน คือ คนกุมอำนาจการเมืองที่แท้จริง

หูจิ่นเทา จะก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ. 2012 หรืออีกสองปีข้างหน้า และจะลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีปีต่อมา คือ 2013

ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการวางตัวผู้นำเบอร์หนึ่งคนใหม่เอาไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ต้องมีการวิ่งเต้นหรือต่อสู้กันภายในพรรคให้เกิดความวุ่นวายอย่างบางประเทศ

เกาหลีเหนือนั้นมาอีกสูตรหนึ่ง...คิมจองอิล ตั้งทายาทการเมืองของตนเหมือนกัน แต่ให้ลูกชายคนเล็กอายุแค่ 27 ปี ขึ้นมาเป็นนายพลสี่ดาวควบคุมกองทัพ และมีตำแหน่งในพรรคระดับสูงอย่างกะทันหัน

ทุกสายตาทั่วโลกจึงต้องจ้องไปที่หนุ่มใหญ่อายุ 57 ปีคนนี้ เพราะเขาจะเป็นผู้กุมชะตากรรม ของการเมืองและการทหารของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลก และเศรษฐกิจที่กำลังจะมาวางไว้ที่อันดับสองของโลก อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

“สีจิ้นผิง” จะเป็นผู้นำรุ่นที่สี่ของจีนใหม่ต่อจากรุ่นเหมาเจ๋อตุง เติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทา

ผู้นำจีนรุ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร แต่รุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาแทนที่ในอีกสองปีข้างหน้า มีพื้นภูมิหลากหลาย เช่น เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักสังคม นักกฎหมาย และนักประวัติศาสตร์

เป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่ไม่เคย “เดินทางไกล” กับเหมา ไม่เกี่ยวโดยตรงกับเหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” และไม่ติดอยู่กับกับดับแห่งความเป็นคอมมิวนิสต์ในทัศนคติโบราณ

ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ วิธีคิดของ “สีจิ้นผิง” ทางการเมือง...ว่า จะโอนเอียงมาทางปฏิรูปอย่างนายกฯ เวินเจียเป่า หรือจะอนุรักษนิยมอย่างหูจิ่นเทา

อีกทั้งต้องจับตาว่าใครจะมานั่งเก้าอี้อีก 7 ตัว ในทั้งหมด 9 ตัว ของ “กรมการเมือง” ที่เรียกว่า Politburo Standing Committee ที่มีกำหนดจะเกษียณในอีกสองปีข้างหน้าพร้อมๆ กัน

ใครเป็นใครใน Politburo คือ ผู้กำหนดทิศทางสำคัญของประเทศจีนในทุกทาง

นายกฯ เวินเจียเป่า “โยนหินถามทาง” เมื่อเดือนสิงหาคม ด้วยการประกาศว่าประเทศจีนจะต้องก้าวเข้าสู่ยุค “ปฏิรูปการเมือง” หากจะให้การก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

คำว่า “ปฏิรูปการเมือง” ย่อมมีความอ่อนไหวในบรรยากาศการเมืองอย่างจีน ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างของคนจีนกว่า 1,300 ล้านคน

เวินเจียเป่า ปีนี้อายุ 68 ปี และกำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ในอีกสองปีเช่นกัน

คนที่ถูกวางตัวให้ขึ้นมาแทน คือ รองนายกฯ หลี่เค่อเฉียง ซึ่งจะนำประเทศเคียงคู่กับ “สีจิ้นผิง”

“สีจิ้นผิง” จบการศึกษามาทางด้านสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิงหวา และอบรมเข้มข้นมาทางทฤษฎีมาร์กซิสม์กับอุดมการณ์สังคมนิยม อีกทั้งยังได้ปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย

เขาเคยเป็นผู้ว่าการมณฑลฟูเจี้ยน ก่อนจะไปเจ้อเจียง และเติบใหญ่อย่างโดดเด่นเมื่อได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เซี่ยงไฮ้

สีจิ้นผิงกระโดดขึ้นมาเป็นหนึ่งในเก้าผู้นำสูงสุด ใน Politburo เมื่อสามปีก่อนนี้เอง ก่อนที่จะได้รับเลื่อนขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี เมื่อปี ค.ศ. 2008

บุคลิกของสีจิ้นผิง ไม่มีสีสันมากนัก ไม่ต่างอะไรกับลูกพี่หูจิ่นเทา ที่มีชื่อเสียงด้าน “น้ำนิ่งไหลลึก”

ส่วนจะลึกแค่ไหน และจะสามารถก้าวขึ้นมาคุมบังเหียนของประเทศจีน ที่กำลังเล่นบทคึกคักหนักหนาในเวทีโลกได้หรือไม่ อีกไม่นานก็จะพิสูจน์ให้ได้เห็นกัน

ประวัติเพิ่มเติม :

นายสีจิ้นผิง ชาวฮั่น เกิดเมื่อเดือนมิถุนายนปี 1953 เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนมกราคมปี 1974 เริ่มทำงานเมื่อเดือนมกราคมปี 1969 จบจากสถาบันสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา วิชาทฤษฎีการเมือง และแนวคิดของลัทธิมาร์ค ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชิงหัวในช่วงทำงานแล้ว และได้จบปริญญาเอกนิติศาสตร์

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการสำนักเลขาธิการแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเมืองเซี่ยงไฮ้

1969-1975 ไปฝึกงานที่หน่วยการผลิตเหลียงเจียเหอ คอมมูนอันยี่ อำเภอเอื๋อนชวนมณฑลสั่นซี และเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่นั่น

1975-1979 เรียนวิชาสังเคราะห์อย่างมีอินทรีย์พื้นฐานที่คณะอุตสาหกรรมเคมีของมหาวิทยาลัยชิงหวา

1979-1982 เลขานุการสำนักงานคณะรัฐมนตรีจีน สำนักงานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของจีน

1982-1983 รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของอำเภอเจิ้งติ้งมณฑลเหอเป่ย

1983-1985 เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของอำเภอเจิ้งติ้งมณฑลเหอเป่ย

1985-1988 กรรมการประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเมืองเซี่ยเหมินมณฑลฝูเจี้ยน รองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยเหมินมณฑลฝูเจี้ยน

1988-1990 เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตหนิงเต๋อมณฑลฝูเจี้ยน

1990-1993 เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคิมมิวนิสต์จีนของเมืองฝูโจวมณฑลฝูเจี้ยน ผู้อำนวยการคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนเมืองฝูโจวมณฑลฝูเจี้ยน

1993-1995 กรรมการประจำคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของมณฑลฝูเจี้ยน เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเมืองฝูโจว ผู้อำนวยการคณะกรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งเมืองฝูโจวมณฑลฝูเจี้ยน

1995-1996 รองเลขาธิกาคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของมณฑลฝูเจี้ยน เลขาธิการของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเมืองฝูโจว ผู้อำนวยการคณะกรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งเมืองฝูโจวมณฑลฝูเจี้ยน

1996-1999 รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนของมณฑลฝูเจี้ยน รักษาการผู้ว่าราชการมณฑลฝูเจี้ยน

2000-2002 รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมณฑลฝูเจี้ยน ผู้ว่าราชการของมณฑลฝูเจี้ยน (1998-2002 ศึกษาวิชาทฤษฎีการเมือง และแนวคิดของลัทธิมาร์คในสถาบันสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา และจบปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์)

2002-2002 รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง รักษาการผู้ว่าราชการ

2002-2003 เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง รักษาการผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง

2003-2007 เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง ผู้อำนวยการคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนมณฑลเจื๋อเจียง

2007-2007 เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์นครเซี่ยงไฮ้(จนถึงตุลาคมปี 2007)

2007- ปัจจุบัน กรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรรมการสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 15 กรรมการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 16 และ 17 กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 17

Thursday, September 30, 2010

ฟอร์บ(Forbes)ระบุ อินเดียมีอภิมหาเศรษฐี (India's Richest) 69คนแล้วเพิ่ม17คนใน1ปี

นิตยสารฟอร์บระบุการจัดอันดับคนรวยรายการใหม่ ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ระบุว่า เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของอินเดีย ได้ทำให้เกิดอภิมหาเศรษฐีเกิดใหม่ 17 คนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้อินเดียมีอภิมหาเศรษฐีมากเป็นประวัติการณ์คือ 69 คนแล้ว

นายมุเกช อัมบานี ประธานบริษัท "รีไรแอนซ์ อิสดัสทรีส์ "บริษัทเอกชนใหญ่สุดของอินเดีย ยังครองตำแหน่งเป็นชาวอินเดียผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นปีที่สามในปีนี้ ด้วยสินทรัพย์มูลค่ารวม 27,000ล้านดอลลาร์ และตามมาติดๆ ด้วยลักษมี มิตตัล เจ้าพ่อเหล็กผู้มีฐานที่มั่นที่ลอนดอน ด้วยสินทรัพย์มูลค่ารวม 26,100 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่สามนั้น นายอาซิม เปรมจี เจ้าของบริษัท"อินโฟเทค"เลื่อนขึ้นมาครองตำแหน่ง ด้วยสินทรัพย์ 17,600 ล้านดอลลาร์ แทนที่น้องชายของนายอัมบานีคือนายอนิล อัมบานี ผู้ตกลงไปเป็นที่หกด้วยสินทรัพย์ 13,300 ล้านดอลลาร์
นายอินทราจิต คุปตะ บรรณาธิการฟอร์บส์ อินเดีย บอกว่าจำนวนมากอภิมหาเศรษฐีมากเป็นประวัติการณ์เป็นอีกสิ่งบ่งชี้ว่าศูนย์ กลางแรงโน้มถ่วงกำลังเขยิบไปทางอินเดียและจีนในช่วงทศวรรษหน้า

Wednesday, September 29, 2010

สรรเสริญ ตำรวจจีน จับไม่ไว้หน้า ยก-ปรับรถพวกเดียวกันจอดผิดกฎ

 จราจร เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนไม่ไว้หน้าพวกเดียวกัน สั่งยกรถตำรวจจอดไม่เป็นที่เป็นทาง แถมเปรียบเทียบปรับอีก 100 หยวน ชาวเน็ต-สื่อจีนสรรเสริญ ชี้อย่างนี้ถึงเรียกว่าบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียม


         วานนี้ (27 ก.ย.) สื่อหลายแขนงของประเทศจีนได้รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีชาวอินเทอร์เน็ตผู้หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “หนิววา” ได้ถ่ายและโพสต์ภาพรถยกของตำรวจกำลังเคลื่อนย้ายรถตำรวจทะเบียน “เอ้อ K0571 จิ่ง” (ตัวอักษร “เอ้อ” บ่งบอกถึงการเป็นรถในทะเบียนมณฑลหูเป่ย และ ตัวอักษร “จิ่ง” แสดงความเป็นรถในราชการตำรวจของจีน) ออกจากบริเวณอู๋กว่างเหมินโข่วในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย
     
       เมื่อภาพดังกล่าวถูกโพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์ในประเทศจีน ก็มีผู้ชมและผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากมาย โดยมีบางส่วนตั้งคำถามว่า การยกรถตำรวจดังกล่าวอาจไม่ใช่เพราะรถตำรวจทำผิดกฎจราจร หรือ จอดรถผิดที่ แต่รถตำรวจอาจจะเสีย จึงต้องเรียกรถยกของพวกเดียวกันมาช่วยกันเคลื่อนย้ายไปซ่อมแซม
     
       ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ เย็นอู่ฮั่นจึงนำภาพดังกล่าวไปสอบถามกับ กองบังคับการตำรวจจราจรเจียงฮั่นซึ่งดูแลพื้นที่การจราจรในเขตอู๋กว่างเหมิ นโข่วในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งก็ได้คำตอบว่า รถตำรวจทะเบียน “เอ้อ K0571 จิ่ง” ในภาพฯ จอดรถผิดกฎจริง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ก.ย.
     
       ตำรวจราจรเมืองอู่ฮั่นระบุว่า ในวันนั้นเพื่อทำให้การจราจรบริเวณนั้นคล่องตัวขึ้น ตำรวจจราจรจึงได้เคลื่อนย้ายรถหลายคันออกจากพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมถึงรถตำรวจคันดังกล่าวด้วย โดยได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับรถตำรวจดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 100 หยวน (ราว 500 บาท)
     
       กระทั่งวานนี้ภาพดังกล่าวที่ถูกโพสต์ขึ้นบนอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน มีผู้เข้าชมมากกว่า 4 หมื่นครั้ง และมีผู้เข้าแสดงความคิดเห็นมากกว่า 300 คน โดยเกือบทั้งหมดเมื่อได้ทราบถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันของ ตำรวจจราจรเมืองอู่ฮั่น ก็แสดงความพอใจเป็นอย่างมาก

Tuesday, September 7, 2010

China replaces Japan as second-largest economy.

การที่จีนมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอัน รวดเร็วอย่างต่อเนื่องยาวนาน ช่วยให้แดนมังกรสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในสภาพสะดุดติดขัด ขึ้นมาเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกได้ สำเร็จ สำหรับเป้าหมายต่อไปก็คือสหรัฐฯ โดยที่คาดหมายกันว่าจีนอาจจะไล่ทันและชิงขึ้นหน้าไปได้ภายในระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ไป
      
       ข้อมูลตัวเลขที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งนำออกเผยแพร่ บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนได้เข้าแทนที่ญี่ปุ่นแล้ว ในการเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
      
       จากสถิติตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.2010) เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในอาการติดๆ ขัดๆ เปรียบเทียบกับของจีนที่ยังคงมีอัตราเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง
      
       ถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ยังอยู่ในระดับที่ทิ้งห่างกัน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทว่ามันก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ฐานะของจีนกำลังขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นทุกทีทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งย่อมจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงปริมณฑลทางการเมืองด้วย
      
       ตัวเลขที่โตเกียวเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ เมื่อยังไม่มีการนำเอาปัจจัยทางฤดูกาลมาคำนวณปรับเปลี่ยน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับมูลค่าจีดีพีของจีนในช่วงเดียวกันและในเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์
      
       อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความแปลความหมายตัวเลขเหล่านี้ เนื่องจากมันครอบคลุมช่วงเวลาที่สั้นมาก แค่จากเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีอัตราเติบโตชะลอตัวลงจนอยู่ในระดับที่น่าสงสาร เพียง 0.4% เท่านั้นเอง ถ้าหากพิจารณากันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ตัวอย่างเช่นดูกันตลอดครึ่งแรกของปีนี้ ก็จะปรากฏว่าญี่ปุ่นยังคงนำหน้าอยู่
      
       กระนั้นก็ตาม จากการที่อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าไปด้วยฝีก้าวอันน่าตื่นใจ เหลือเกิน โดยที่ในขณะนี้ประมาณการกันว่าอยู่ในระดับเท่ากับปีละ 10% ดังนั้นจึงไม่มีใครเลยจริงๆ ที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะสามารถแซงคืนทวงตำแหน่งที่ตนช่วงชิงและครอบครองเอา ไว้ได้อย่างยาวนานตั้งแต่เมื่อปี 1968 ตอนที่แดนอาทิตย์อุทัยวิ่งเลยหน้าเยอรมันตะวันตก กลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
      
       ในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซาโตชิ อะราอิ (Satoshi Arai) ไม่ได้พูดถึงเรื่องการทวงตำแหน่งคืน แต่พยายามที่จะลดทอนความสำคัญของตัวเลขเหล่านี้มากกว่า
      
       “ใครจะอยู่บนหรือลงล่างนั้นไม่มีความหมายอะไรหรอก มันเพียงแค่เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของแต่ละ ประเทศเท่านั้นเอง การพัฒนาของประเทศเรากำลังติดตามการพัฒนาของจีนและของชาติเอเชียอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์แห่งการเจริญเติบโตของเราด้วย” อะราอิกล่าว
      
       **อยู่ติดชิดกับมหาอำนาจ**
      
       สำหรับประชาชนคนเดินถนนในญี่ปุ่น พวกเขาดูจะเผชิญหน้าข้อเท็จจริงอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ด้วยอาการยอมรับ สภาพ ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำกันในปีนี้บ่งชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักหนาหรอกที่ ประเทศของพวกเขาจะต้องมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
      
       นอกจากนั้น นักวิเคราะห์หลายคนยังชี้ว่า การที่ชาติเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของญี่ปุ่นผงาดก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทรง พลังทางเศรษฐกิจเช่นนี้ แดนอาทิตย์อุทัยก็จะได้ประโยชน์หลายอย่างหลายประการไปด้วย เฮเดกิ มัตสึมุระ (Heideki Matsumura) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute) บอกว่า “ในเรื่องดังกล่าวนี้มันก็มีส่วนประกอบที่เป็นไปในทางลบ กล่าวคือ เทคโนโลยีของจีนจะกระเตื้องยกระดับขึ้นเรื่อยๆ พวกบริษัทจีนจะสามารถแข่งขันกับบรรดาบริษัทของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี มันก็มีส่วนประกอบที่เป็นไปในทางบวกอย่างมากมายทีเดียว ในแง่ที่ว่ายิ่งมีการเจริญเติบโตมากขึ้นในประเทศจีน ก็มีผู้คนมากขึ้นที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น ดังนั้นโดยองค์รวมแล้ว การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนคือเรื่องที่ดีสำหรับญี่ปุ่น”
      
       แน่นอนทีเดียวว่าความสำเร็จของจีนยังจะส่งผลกระทบไปในโลกอันกว้างไกล ไม่หยุดแค่เพียงระดับภูมิภาค ทั้งนี้อำนาจทางเศรษฐกิจย่อมนำมาซึ่งอิทธิพลบารมีทางการเมือง
      
       ดังที่ผู้สื่อข่าว เดวิด บาร์โบซา (David Barboza ) เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เวลานี้จีนก็เป็นผู้ขับดันความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกรายสำคัญอยู่แล้ว เขาบอกว่าพวกผู้นำของแดนมังกรกำลังแสดงความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นบนเวที ระหว่างประเทศ และเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลอย่างใหญ่โตทั้งในเอเชีย, แอฟริกา, และละตินอเมริกา ด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างเช่น ข้อตกลงการค้าชนิดให้สิทธิพิเศษ และข้อตกลงด้านทรัพยากรมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์
      
       พวกนักเศรษฐศาสตร์ประมาณการกันว่า ถ้าหากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แล้ว จีนก็จะพรักพร้อมแซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ใช่ของง่ายๆ และจีนยังจะต้องเร่งความเร็วกันไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว เนื่องจากจีดีพีของสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี