Wednesday, August 31, 2011

ศตวรรษที่ 21: หรือจะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ?

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ได้มีการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "ศตวรรษที่ 21: ศตวรรษแห่งเอเชีย ?" โดยอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล โดยมีดร.ปราณี ทิพย์รัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์วรศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษากล่าวว่า ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้จีนกำลังผงาดขึ้นมามีอิทธิพลในเวทีโลกในปัจจุบันนั้น ได้แก่การที่จีนได้บทเรียนจากยุคอาณานิคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นจีนปฏิเสธไม่ยอมรับความรู้ใหม่ๆ อีกปัจจัยหนึ่งคือนโยบายต่างประเทศของจีน ที่มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็ไม่ให้เพื่อนบ้านเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในในประเทศอื่นๆ ทว่าจีนกลับได้ผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของอิรัก หรือพม่า


แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน แต่จีนได้ให้คำอธิบายการปกครองตนว่า "เอกภาพและเอกราชย่อมต้องมาก่อนเรื่องของสิทธิมนุษยชน" ในกรณีการดำเนินนโยบายในประเทศแบบที่ไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในตน

"นอกจากนี้การที่จีนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องของภาษาจีน และในด้านอื่นๆก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนการขึ้นมามีบทบาทของจีนในเวทีโลก แต่อย่างไรก็ดี ประเทศจีนก็ต้องประสบกับข้อจำกัดด้วยเช่นกัน ทั้งข้อจำกัดในเรื่องจำนวนประชากร ซึ่งจะไปกระทบกับความมั่นคงทางอาหารรวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกมาก โจทย์ของจีนคือการทำอย่างไรให้ประชากรที่มีอยู่จำนวนมากนั้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพด้วยซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันจีนได้หันมาเน้นในเรื่องของการศึกษาเป็นอย่างมาก"

"ผมคิดว่าเมื่อใดที่จีนมีประชากรที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพด้วยอันนั้นจะน่ากลัว"
นายวรศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้นายวรศักดิ์ยังได้กล่าวถึงการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของจีนด้วยว่าการที่ในปัจจุบันจีนได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทว่ายังคงเลือกที่จะให้มีการปกครองแบบรวมศูนย์ ปฏิเสธการเมืองการปกครองแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยนั้นมีข้อควรระวังที่ว่า จากระบอบดังกล่าว หากมีการทุจริตขึ้นมาเมื่อใด เมื่อนั้นประเทศจีนจะต้องประสบกับปัญหาแน่นอน



ทางด้านนายสุรัตน์ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา กล่าวว่า การจะเป็นประเทศมหาอำนาจนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยี ความพร้อมทางการทหาร วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดียในตอนนี้นั้น กลับพบว่าภายในประเทศเหล่านี้มีปัญหาภายในประเทศมากมาย แม้ว่าปัจจุบันอินเดียจะมีตัวเลขจีดีพีต่อหัวที่สูง แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ก็มีอยู่สูงเช่นกัน

"หรือว่าคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องรองลงมาจากเรื่องของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ?ภายใต้เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เราต้องเร่งเหยียบคันเร่งทางเศรษฐกิจ-ทางทหาร ซึ่งแม้แต่ในประเทศตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องประสบกับปัญหาเช่นนี้"

"บ้านคนอังกฤษในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นของธนาคารทั้งนั้น"

สุดท้ายนายสุรัตน์ได้โยนคำถามไปให้ผู้ร่วมเสวนาร่วมกันคิดว่า"จากโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าว

สุดท้ายแล้วมหาอำนาจนั้นคืออะไรกันแน่ การเป็นมหาอำนาจแบบสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนั้นใช่คำตอบรึเปล่า?"

No comments: