Wednesday, October 5, 2011

จีนประกาศอหังการ ติดจรวดต้าน "โทมาฮอว์ค" แล้วเสร็จ ทะเลใต้เริ่มสูสี

กระทรวงกลาโหมจีนได้ออกยืนยันเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ การนำเข้าประจำการจรวดแบบพื้นสู่อากาศพิสัยกลางรุ่นใหม่สมรรถนะสูง ในการต่อต้านขีปนาวุธข้าศึกที่ยิงโจมตีภาคพื้นดินจากระยะไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจรวดร่อนโทมาฮอว์ค (Tomahawk) ที่สหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธโจมตีหลักในปัจจุบัน

กองทัพประชาชนจีนตีพิมพ์เรื่องนี้ในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมในวันอังคาร 4 ก.ค.นี้ หลังจากปรากฏเป็นข่าวผ่านในนิตยสาร "กองทัพเรือทันสมัย" ของกองทัพเรือจีนฉบับใหม่ที่ออกปลายสัปดาห์ที่แล้ว

จีนได้นำจรวด SAM (Surface-to-Air Missile) แบบหงฉี-16 (Hongqi-16) เข้าประจำการและติดตั้งในเขตปริมณฑลกองทัพมณฑลเสิ่นหยาง (Shenyang Military Region) แล้วเสร็จ และยังทำอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับติดตั้งบนเรือฟริเกตแบบ 054A ของกองทัพเรือ เพื่อปฏิบัติในทะเลอีกด้วย เว็บไซต์กระทรวงกลาโหมกล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่จีนได้ออกเปิดเผยเกี่ยวกับเขี้ยวเล็บล่าสุด โดยจรวด "ธงแดง-16" หรือ HQ-16 ควบคุมด้วยระบบที่สามารถตรวจจับขีปนาวุธข้าศึกที่พุ่งสู่เป้าหมายในระยะต่ำกว่า 10 เมตร ใกล้พื้นดินหรือผืนน้ำได้ ห่างออกไปถึง 40 กม. ไกลพอสำหรับการทำงานของระบบจรวดต่อต้าน

จรวดธงแดง-16 นี้ ได้ช่วยอุดข้อด้อยของระบบจรวดพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้ HQ-7 กับระบบจรวดพิสัยไกล HQ-9 และ HQ-12 ที่ใช้ในปัจจุบันได้อย่างดี


นิตยสาร "กองทัพเรือทันสมัย" เปิดเผยว่า ระบบจรวด HQ-16 ปฏิบัติการอย่างได้ผลจากการทดลองยิงเป้าหมายทางอากาศ ที่พยายามหลบเลี่ยงเรดาร์ โดยเคลื่อนที่ในระยะต่ำขณะพุ่งเข้าหาเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไป ทั้งนี้เพื่อมิให้ถูกตรวจจับได้ซึ่งจะทำให้เป้าหมายมีเวลาป้องกันตัวน้อยที่สุด

นายหลานหยุน (Lan Yun) บรรณาธิการนิตยสารโมเดิร์นชิป หรือ "นาวีสมัยใหม่" ในกรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์เว็บไซต์กลาโหมในจีนว่า ปัจจุบันมีการใช้จรวดหรือขีปนาวุธโจมตีจากระยะไกลกันมากในค่ายตะวันตก รวมทั้งจรวดร่อนนำวิธีพิสัยไกลโทมาฮอว์คของสหรัฐฯ


"จรวดพวกนี้ร่อนสูงจากพื้นเพียงประมาณ 50 เมตรเพื่อหลบเลี่ยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าของเรดาร์" นายลานกล่าว

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม ปัจจุบันระบบจรวดหงฉี-12 หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบจรวด KS-1A ในตลาดค้าอาวุธโลก เป็นระบบป้องกันการโจมตีทันสมัยที่สุดอีกระบบหนึ่งของจีน แต่สามารถตรวจจับเป้าหมายที่บินหรือร่อน 300 เมตรเหนือพื้นดินหรือผืนน้ำขึ้นไป

"นอกเหนือจากสมรรถนะการตรวจจับเป้าหมายในระยะต่ำแล้ว HQ-16 ยังมีความแม่นยำมากกว่า HQ-12 การนำ HQ-16 เข้าประจำการสามารถสร้างเสริมขีดความสามารถในการป้องกันแผ่นดินใหญ่ได้เป็นอย่างดี" บรรณาธิการนิตยสารข่าวนาวีที่ใกล้ชิดกับทางการกล่าว

ทางการจีนไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ อีกเกี่ยวกับการวิจัยทดลอง หรือการทำงานของระบบขีปนาวุธรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าหากมีประสิทธิภาพสูงจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับการดุลอำนาจทางทหารในย่านเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงเวลากว่า 20 ปีมานี้ ทั่วโลกได้เห็นการใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและไกล โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ยุทธการพายุทะเลทรายในคูเวตและสงครามอิรัก ซึ่งสหรัฐฯ ใช้จรวดโทมาฮอว์คโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินอย่างได้ผล โดยยิงจากเรือดำนำและเรือพิฆาตที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรในอ่าวเปอร์เซียหรือในมหาสมุทรอินเดีย

จรวดโทมาฮอว์คซึ่งร่อนในระยะต่ำขณะพุ่งไปยังเป้าหมายผ่านการนำวิถีโดยระบบดาวเทียม ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถตรวจจับได้ และเป้าหมายทางทหารต่างๆ ในอิรักกลายเป็นเป้านิ่งไร้หนทางป้องกัน

ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังใช้จรวดโทมาฮอว์คทำสงครามกับกองโจรตอลิบานในอัฟกานิสถาน และยิงจากเรือพิฆาตกับเรือดำน้ำโจมตีที่มั่นทางทหารในลิเบีย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี

กองทัพเรือสหรัฐฯ ติดตั้งจรวดโทมาฮอว์คในเรือรบเกือบจะทุกลำ และติดตั้งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ทุกลำกับเรือพิฆาตชั้นอาร์เลห์เบิร์ค (Arleigh Burke) ทุกลำๆ ละ 18 ลูกโดยติดตั้งท่อยิงกับระบบยิงที่ทันสมัย ผ่านการพัฒนามาหลายยุค

 จรวดโทมาฮอว์คขับเคลื่อนด้วยจรวดขับดัน ติดหัวรบธรรมดาได้หลายขนาด เช่นเดียวกับหัวรบนิวเคลียร์ และด้วยรัศมีทำการไกล 3,500 กม. ทำให้ทุกเป้าหมาย ในทุกทวีปไม่สามารถรอดพ้นถูกโจมตีทำลายได้ หากไม่มีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
     
       สหรัฐฯ ประกาศตัวเองเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในทะเลจีนใต้ และ เข้าข้างฟิลิปปินส์อย่างเปิดเผยในกรณีพิพาทกับจีนเกี่ยวกับสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตเรือพิฆาตชุงฮุน (USS Chung-Hoon) ซึ่งเป็นชั้นอาร์เลห์เบิร์กลำหนึ่ง เข้าประจำการในทะเลย่านซูลูของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นมา โดยอ้างว่าเพื่อพิทักษ์เส้นทางเดินเรือเสรี
     
       ในเดือน ก.ค.ปีนี้สหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตชุงฮุน กับเรือพิฆาตเพรเบิล (USS Preble) ซึ่งเป็นเรือชั้นอาร์เลห์เบิร์คติดขีปนาวุธโทมาฮอว์คเช่นเดียวกัน ไปเยือนนครด่าหนัง ในภาคกลางของเวียดนาม ซึ่งมีการฝึกซ้อมในหลายเนื้อหากับกองทัพเรือฝ่ายเจ้าบ้านตลอดเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
     
       ในเดือนเดียวกันสหรัฐฯ ยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ วอชิงตัน (USS George Washington) ไปแวะเยือนเชื่อมสัมพันธ์กับเวียดนามอีกระลอกหนึ่ง
     
       เรือรบสหรัฐฯ หลายลำได้แวะเยือนเวียดนาม นับตั้งแต่เรือฟริเกตแวนเดอกริฟท์ (USS Vandegrift) ติดขีปนาวุธโทมาฮอว์ค ซึ่งอยู่ในกองเรือบรรทุกเครื่องบินคิตตีฮอว์ค (USS Kitty Hawk) ไปแวะเยือนนครโฮจิมินห์เป็นลำแรกในเดือน พ.ย.2546
     
       

มัจจุราชทางไกล
กองทัพเรือสหรัฐ

      
ในปลายเดือน มี.ค.2554 เมื่อสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรนาโต้มีมติสนับสนุนกลุ่มต่อต้านประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี เรือพิฆาตแบร์รี (USS Barry) DDG-52 จากมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรได้เป็นกำลังหลักในการยิงถล่มเป้าหมายทางทหารในลิเบียสลับกับเรือดำน้ำสหรัฐฯ อีกลำหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เนียน การยิงถล่มจากระยะไกลด้วยขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกล เกือบจะเป็นการทำสงครามแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งหมดโอกาสต่อสู้ หากไม่มีระบบป้องกันที่ทันสมัยดีพอ จีนได้ยืนยันในสัปดาห์นี้ว่ามีพร้อมแล้ว ภาพประกอบทั้งหมดโดยกองทัพเรือสหรัฐ.

No comments: