Tuesday, September 7, 2010

China replaces Japan as second-largest economy.

การที่จีนมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอัน รวดเร็วอย่างต่อเนื่องยาวนาน ช่วยให้แดนมังกรสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในสภาพสะดุดติดขัด ขึ้นมาเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกได้ สำเร็จ สำหรับเป้าหมายต่อไปก็คือสหรัฐฯ โดยที่คาดหมายกันว่าจีนอาจจะไล่ทันและชิงขึ้นหน้าไปได้ภายในระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ไป
      
       ข้อมูลตัวเลขที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งนำออกเผยแพร่ บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนได้เข้าแทนที่ญี่ปุ่นแล้ว ในการเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
      
       จากสถิติตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.2010) เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในอาการติดๆ ขัดๆ เปรียบเทียบกับของจีนที่ยังคงมีอัตราเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง
      
       ถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ยังอยู่ในระดับที่ทิ้งห่างกัน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทว่ามันก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ฐานะของจีนกำลังขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นทุกทีทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งย่อมจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงปริมณฑลทางการเมืองด้วย
      
       ตัวเลขที่โตเกียวเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ เมื่อยังไม่มีการนำเอาปัจจัยทางฤดูกาลมาคำนวณปรับเปลี่ยน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับมูลค่าจีดีพีของจีนในช่วงเดียวกันและในเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์
      
       อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความแปลความหมายตัวเลขเหล่านี้ เนื่องจากมันครอบคลุมช่วงเวลาที่สั้นมาก แค่จากเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีอัตราเติบโตชะลอตัวลงจนอยู่ในระดับที่น่าสงสาร เพียง 0.4% เท่านั้นเอง ถ้าหากพิจารณากันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ตัวอย่างเช่นดูกันตลอดครึ่งแรกของปีนี้ ก็จะปรากฏว่าญี่ปุ่นยังคงนำหน้าอยู่
      
       กระนั้นก็ตาม จากการที่อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าไปด้วยฝีก้าวอันน่าตื่นใจ เหลือเกิน โดยที่ในขณะนี้ประมาณการกันว่าอยู่ในระดับเท่ากับปีละ 10% ดังนั้นจึงไม่มีใครเลยจริงๆ ที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะสามารถแซงคืนทวงตำแหน่งที่ตนช่วงชิงและครอบครองเอา ไว้ได้อย่างยาวนานตั้งแต่เมื่อปี 1968 ตอนที่แดนอาทิตย์อุทัยวิ่งเลยหน้าเยอรมันตะวันตก กลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
      
       ในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซาโตชิ อะราอิ (Satoshi Arai) ไม่ได้พูดถึงเรื่องการทวงตำแหน่งคืน แต่พยายามที่จะลดทอนความสำคัญของตัวเลขเหล่านี้มากกว่า
      
       “ใครจะอยู่บนหรือลงล่างนั้นไม่มีความหมายอะไรหรอก มันเพียงแค่เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของแต่ละ ประเทศเท่านั้นเอง การพัฒนาของประเทศเรากำลังติดตามการพัฒนาของจีนและของชาติเอเชียอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์แห่งการเจริญเติบโตของเราด้วย” อะราอิกล่าว
      
       **อยู่ติดชิดกับมหาอำนาจ**
      
       สำหรับประชาชนคนเดินถนนในญี่ปุ่น พวกเขาดูจะเผชิญหน้าข้อเท็จจริงอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นี้ด้วยอาการยอมรับ สภาพ ผลการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำกันในปีนี้บ่งชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักหนาหรอกที่ ประเทศของพวกเขาจะต้องมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
      
       นอกจากนั้น นักวิเคราะห์หลายคนยังชี้ว่า การที่ชาติเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของญี่ปุ่นผงาดก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทรง พลังทางเศรษฐกิจเช่นนี้ แดนอาทิตย์อุทัยก็จะได้ประโยชน์หลายอย่างหลายประการไปด้วย เฮเดกิ มัตสึมุระ (Heideki Matsumura) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (Japan Research Institute) บอกว่า “ในเรื่องดังกล่าวนี้มันก็มีส่วนประกอบที่เป็นไปในทางลบ กล่าวคือ เทคโนโลยีของจีนจะกระเตื้องยกระดับขึ้นเรื่อยๆ พวกบริษัทจีนจะสามารถแข่งขันกับบรรดาบริษัทของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี มันก็มีส่วนประกอบที่เป็นไปในทางบวกอย่างมากมายทีเดียว ในแง่ที่ว่ายิ่งมีการเจริญเติบโตมากขึ้นในประเทศจีน ก็มีผู้คนมากขึ้นที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น ดังนั้นโดยองค์รวมแล้ว การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนคือเรื่องที่ดีสำหรับญี่ปุ่น”
      
       แน่นอนทีเดียวว่าความสำเร็จของจีนยังจะส่งผลกระทบไปในโลกอันกว้างไกล ไม่หยุดแค่เพียงระดับภูมิภาค ทั้งนี้อำนาจทางเศรษฐกิจย่อมนำมาซึ่งอิทธิพลบารมีทางการเมือง
      
       ดังที่ผู้สื่อข่าว เดวิด บาร์โบซา (David Barboza ) เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เวลานี้จีนก็เป็นผู้ขับดันความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกรายสำคัญอยู่แล้ว เขาบอกว่าพวกผู้นำของแดนมังกรกำลังแสดงความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นบนเวที ระหว่างประเทศ และเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลอย่างใหญ่โตทั้งในเอเชีย, แอฟริกา, และละตินอเมริกา ด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างเช่น ข้อตกลงการค้าชนิดให้สิทธิพิเศษ และข้อตกลงด้านทรัพยากรมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์
      
       พวกนักเศรษฐศาสตร์ประมาณการกันว่า ถ้าหากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แล้ว จีนก็จะพรักพร้อมแซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ใช่ของง่ายๆ และจีนยังจะต้องเร่งความเร็วกันไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว เนื่องจากจีดีพีของสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

No comments: