Tuesday, September 7, 2010

No rush for China.

ข้อมูลตัวเลขที่มีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนได้ขึ้นแทนที่ญี่ปุ่นในการเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจ ใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกแล้ว โดยเป็นรองก็แต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะที่โลกเฝ้าจับมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกพิศวง, ด้วยการยกย่องชมเชย, และกระทั่งด้วยความหวาดกลัว ปักกิ่งกลับไม่ได้แสดงอาการภูมิอกภูมิใจอย่างออกนอกหน้า ไม่ปรากฏการยกนิ้วเชิดชูในที่สาธารณะ ท่าทีเช่นนี้ของจีนสะท้อนให้เห็นว่า แดนมังกรจะไม่รีบร้อนในการก้าวขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่ง
   
       ปักกิ่ง – บรรดาเยาวชนเลือดร้อนผู้ซึ่งในอดีตมักออกมารวมตัวกันตะโกนคำขวัญต่อต้าน ญี่ปุ่น ต่างพากันเก็บตัวเงียบกริบ เหล่ากุนซือเทศนาสั่งสอนลัทธิคลั่งชาติของพวกเขาก็ประพฤติตนเสมือนกับได้รับคำสั่งให้ปิดปากให้สนิท หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ทำเฉยไม่แยแสข่าวนี้ หรือไม่ก็จับเอาไปตีพิมพ์ไว้ตรงมุมที่ลับตา ส่วนพวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสต่างพยายามหลบหลีกไม่เอ่ยถึงหัวข้อนี้ในเวลา ที่ต้องพูดจากับชาวต่างประเทศ
   
       ข้อมูลตัวเลขที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนได้เข้าแทนที่ญี่ปุ่นในฐานะเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแล้ว โดยเป็นรองก็แต่สหรัฐฯเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ก่อนที่จะมีการปรับตัวแปรตามฤดูกาล มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 1.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับของจีนซึ่งเท่ากับ 1.33 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ก็คือถูกแดนมังกรแซงหน้าไป

   
       ขณะที่โลกเฝ้าจับมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกพิศวง, ด้วยการยกย่องชมเชย, และกระทั่งด้วยความหวาดกลัว ปักกิ่งกลับไม่ได้แสดงอาการภูมิอกภูมิใจอย่างออกนอกหน้า ไม่ปรากฏการยกนิ้วเชิดชูในที่สาธารณะ
   
       อันที่จริงแล้ว การแซงหน้าญี่ปุ่นคือการปลดม่านกั้นผืนสุดท้ายจนเผยให้เห็นการเปรียบเทียบ กำลังทางเศรษฐกิจของคู่แข่งขันตัวจริง (ซึ่งมีการเทียบชั้นกันอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว) นั่นคือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาถึงตอนนี้คำถามที่ย่อมจะต้องผุดขึ้นมาเป็นธรรมดาก็คือ GDPของจีนจะวิ่งเลยหน้าของสหรัฐฯไปเมื่อใด?
   
       คำตอบจะออกมาอย่างไรนั้นที่สำคัญแล้วขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้วิธี บันทึกจดบัญชีกันแบบไหน วิธีที่แตกต่างกันก็สามารถให้คำตอบที่ผิดแผกแตกต่างกันได้หลายสิบอย่างที เดียว เป็นต้นว่า ถ้าคุณพิจารณาจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) จีนก็น่าจะแซงสหรัฐฯได้ภายในเวลา 10 ปี หากคำนึงถึงมูลค่าปัจจุบันของสกุลเงินตราของแต่ละฝ่าย มันก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี แต่ถ้าเงินหยวนของจีนมีการปรับค่าให้แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์แล้ว มันย่อมจะมาถึงเร็วกว่านั้น
   
       หรือหากเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเข้มแข็งได้ มันก็อาจจะต้องพูดกันด้วยระยะเวลาสัก 40 ปี ถ้าตรงกันข้ามคือเศรษฐกิจสหรัฐฯล้มคว่ำคะมำหงาย จีนอาจจะแซงไปได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เลย และหากเป็นเศรษฐกิจของจีนที่ล่มสลาย ก็เป็นอันปิดฉากไม่ต้องพูดกันอีกเลยว่าแดนมังกรจะล้ำหน้าสหรัฐฯไปเมื่อใด
   
       พวกสถาบันคลังสมองในที่ต่างๆ ตลอดทั่วทั้งโลก ต่างทำงานกันอย่างเต็มที่โดยใช้สมมุติฐานที่หลายหลากและได้คำทำนายที่ผิดแผก แตกต่างกันไป ทว่าเมื่อมองด้วยสายตาของฝ่ายจีนแล้ว ผลลัพธ์ที่สถาบันคลังสมองเหล่านี้ผลิตออกมาได้ มักเป็นการสะท้อนความหวาดกลัวและการสำรวจในเชิงจิตวิเคราะห์ มากกว่าจะเป็นการสร้างฉากอนาคต (scenario) ที่สอดคล้องความเป็นจริง
   
       อย่างไรก็ตาม การเอาชนะญี่ปุ่นได้ ก็ยังถือเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงแม้ได้ใช้เวลากว่า 30 ปีในการขับดันเศรษฐกิจให้วิ่งฉิวไปด้วยอัตราเติบโตถึงราว 10% ต่อปี จีนก็ยังไม่ได้ล่มสลาย และดังนั้นจึงยังน่าที่จะวิ่งต่อไปได้อีกหลายๆ ปีทีเดียว
   
       นั่นหมายความว่า จีนสามารถที่จะกลับคืนไปเป็นศูนย์กลางของโลกได้อีกครั้งจริงๆ เหมือนที่ได้เคยเป็นมาแล้วในอดีต และถึงเวลานั้นทั้งวัฒนธรรมของชาวยุโรปแท้ๆ ตลอดจน “ภาคผนวก” ของวัฒนธรรมนี้ที่ถูกปลูกถ่ายให้ไปเติบโตใน “โลกใหม่” ก็จะถูกแย่งตำแหน่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ ญี่ปุ่นจะไม่ถึงกับรู้สึกย่ำแย่อะไรนักหรอก เนื่องจากญี่ปุ่นสามารถที่จะทำการค้นพบใหม่ในเรื่องวิธีที่จะขึ้นมีอำนาจใน เอเชียอีกครั้ง (หรืออันที่จริงแล้วก็กำลังค้นพบใหม่อยู่แล้วในขณะนี้ ว่าตนสามารถที่จะมีอำนาจในเอเชียได้) ด้วยการจัดวางตำแหน่งของตนเองให้สอดคล้องกับเส้นทางสายใหม่
   
       อย่างไรก็ดี แรงกระตุ้นของจีน ตลอดจนความหวาดกลัวที่ว่าในไม่ช้าก็เร็ว อเมริกาอาจจะกลายเป็น “หมายเลขสอง” ไปจริงๆ ย่อมจะส่งผลเปลี่ยนแปลงจุดอ้างอิงในทางจิตใจและในทางวัฒนธรรมของ ชาวอเมริกัน, ชาวยุโรป, ตลอดจนของประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก
   
       จีนเองก็มีความหวาดหวั่นว่าจะเกิดบรรยากาศใหม่เช่นนี้ขึ้นมา เพราะตระหนักอยู่ว่ามันจะมีสภาพเหมือนรถยนต์ 2 คันกำลังพุ่งทะยานเข้าใส่กันด้วยความเร็วสูงลิ่ว ซึ่งย่อมมีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดอุบัติเหตุ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเข้าใจประเด็นนี้ให้ดี ว่าจีนนั้นไม่ได้กำลังพยายามดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์เพื่อที่จะผงาดขึ้นเป็นมหา อำนาจทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเลย จีนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่คิดจะรีบร้อน และยังรู้สึกสบายใจมากที่จะอยู่ในตำแหน่งอันดับสองไปอีกสักระยะหนึ่ง เหตุผลข้อนี้อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งทำให้จีนต้านทานแรงบีบคั้นให้ตน เองปรับเพิ่มค่าเงินหยวน อันจะทำให้แดนมังกรใช้ระยะเวลาสั้นลงในการแซงหน้าสหรัฐฯ
   
       พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนอธิบายว่า ข่าวคราวที่จีนแซงหน้าญี่ปุ่น ไม่ได้มีคุณค่าเพียงพอที่หนังสือพิมพ์จะเขียนถึงเลย และแดนมังกรยังอาจจะต้องใช้เวลาอีก 100 ปี กว่าที่ตัวเลขจีดีพีต่อจำนวนประชากรของคนจีน จะสามารถขึ้นไปถึงระดับของพวกประเทศทางตะวันตกได้
   
       ส่วนพวกนักวิชาการจีนก็กล่าวว่า ปัจจุบันสิทธิบัตรสำคัญๆ กว่า 80% ของการจดสิทธิบัตรทั้งหมด ยังคงเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกา ตราบใดที่ปักกิ่งยังไม่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างแท้ จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังต้องถือว่าเป็นของปลอมทั้งสิ้น
   
       พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจีนตั้งคำถามเช่นกันว่า “เป็นการคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเกิดการพัฒนาอย่างมากมาย ทว่าคุณภาพของอากาศและคุณภาพของน้ำอยู่ในระดับสกปรกที่สุดในโลก?”
   
       หลิวหย่าโจว (Liu Yazhou) นายพลคนสำคัญเพิ่งกล่าวเตือนเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คัดต้านการที่ชาวจีนในปัจจุบันเอาแต่เร่งรีบแข่งขันกันในเรื่องการหาเงินและ การนับเงิน เขาบอกว่าสิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งแก่เรื่องระบบ และในจุดนี้ปักกิ่งควรที่จะต้องศึกษาเรียนรู้จากวอชิงตัน
   
       ปฏิกิริยาทั้งหมดเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าเป็นการสะท้อนความถ่อมเนื้อถอมตัว อันเป็นคุณสมบัติแบบลัทธิขงจื๊อตั้งแต่โบราณกาล แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงความปรารถนาที่จะพยายามไม่ทำให้การเปรียบเทียบทาง เศรษฐกิจกับสหรัฐฯ กลายเป็นการคุกคามหรือการประจันหน้ากัน ปักกิ่งหวาดเกรงว่าจะมีชาวต่างชาติจำนวนมากขึ้นทุกทีที่นึกอยากให้จีนล่ม สลายและไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯได้ โดยที่ไม่คำนึงเลยว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมาจริงๆ ชาวจีนหลายสิบหลายร้อยล้านคนก็จะต้องตกลงสู่ระดับยากจนอีก
   
       วิกฤตทางการเงินที่ปะทุขึ้นในสหรัฐฯเมื่อปี 2008 จากนั้นจึงแพร่ลามไปทั่วโลก ได้ผลักดันให้จีนต้องเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ หากเกิดการสั่นไหวรุนแรงครั้งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกในโลกตะวันตก ก็น่าที่จะทำให้จีนต้องออกมาอยู่ตรงแถวหน้าๆ บังคับให้ปักกิ่งต้องทำการตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลกระทบในขอบเขตทั่วโลก ทั้งนี้ปักกิ่งยังไม่มีความพรักพร้อมสำหรับเรื่องเช่นนี้เลย
   
       ถ้าหากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดล้มคว่ำขะมำหงาย และดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะคงกำลังทหารเอาไว้ในอิรักและอัฟกานิสถานได้อีก ต่อไป จีนจะทำอย่างไร? หากจีนเข้าไปแทนที่อเมริกา จีนจะยังคงดำเนินโยบายที่ทำให้ทหารต้องล้มตายเป็นจำนวนมากและเศรษฐกิจก็ถูก บีบเค้นจนเกินกำลังต่อไปหรือไม่? หรือจีนจะถอยห่างออกมาและยอมรับให้ความไร้เสถียรภาพระเบิดตูมที่แถวๆ ธรณีประตูของตนเอง?
   
       เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจะเลือกทางเลือกไหนก็ล้วนแต่สร้างความเจ็บปวด ทั้งสิ้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในวันนี้ที่จีนสามารถวาดหวังได้แล้วว่าสักวัน หนึ่งจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯได้จริงๆ จีนกลับต้องการให้สิ่งนี้ขึ้นเกิดขึ้นช้าๆ มากกว่าให้เกิดขึ้นเร็วๆ
   
       กระนั้นก็ตามที จากการที่จีนกำลังแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นไป มันก็กำลังทำให้จีนขยับเข้าใกล้ธรณีประตูของเราทั้งหลายเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก

No comments: