Tuesday, September 7, 2010

สิงคโปร์แสดงแสนยานุภาพ [ Singapore shows its strengths ]

    
       อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจอันโดดเด่น ถึง 24% ต่อปี ของ Singapore สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศเกาะแห่งนี้กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงลึก ซึ่งรวมตั้งแต่การมีบ่อนกาสิโน และคู่ค้าสำคัญอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม คำเตือนจากสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ของโลกอย่าง พอล ครุกแมน ในเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ของสิงคโปร์ ซึ่งให้ไว้ตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่แล้ว ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
     
       มอนทรีออล, แคนาดา – การขยายตัวทางเศรษฐกิจอันน่าตื่นตาตื่นใจของสิงคโปร์ ณ อัตรา 24% ต่อปี ณ ไตรมาส 2/2010 เทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้นั้น ไม่น่าที่จะสามารถรักษาพลังการเติบโตอันร้อนแรงนี้ได้เรื่อยๆ ในเมื่อคู่ค้าสำคัญหลายรายของสิงคโปร์ อาทิ สหรัฐอเมริกา กับบรรดาประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ล้วนอยู่ในภาวะย่ำแย่ ต้องตะกายวิ่งสู้ฟัดเพื่อประคองพลวัตการฟื้นตัว
     
       ทั้งนี้ เป็นการวินิจฉัยโดยนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง แห่งสิงคโปร์ ซึ่งกล่าวไว้เมื่อกลางเดือนสิงหาคมว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ก็เหมือนประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพิงภาคส่งออก ดังนั้นจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยเป็นผลจากที่ทางการในยุโรปเร่งเดินนโยบายเข้มงวดรัดเข็มขัด กระนั้นก็ตาม รัฐบาลเมืองลอดช่องยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ที่อัตรา 13%-15% ต่อปีในปี 2010 นี้ โดยที่ว่า ณ ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราขยายตัวของไตรมาส 2/2010 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สิงคโปร์สามารถโตขึ้นมา 18%

     
       ด้าน ระวี เมนอน ปลัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์ว่า “อาจเป็นได้ว่าเราจะได้เห็นอัตราโตติดลบสองไตรมาสต่อเนื่องด้วยซ้ำ ซึ่งจะเท่ากับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยนั่นเอง”
     
       ที่ผ่านมา โครงสร้างการส่งออกของสิงคโปร์มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา โดยที่ว่าสัดส่วนของการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มน้ำมัน ไปยังอียู สหรัฐฯ และญี่ปุ่น อยู่ที่อัตรา 33% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจดูเสมือนว่ามาก แต่ที่จริงแล้ว เป็นการลดลงจากระดับ 55% ของโครงสร้างเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของเกาะลอดช่องแห่งนี้ซึ่งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ น้อยกว่า ได้กลายเป็นคู่ค้าที่เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของจีน
     
       ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของสิงคโปร์มุ่งหน้าสู่จีนในสัดส่วนถึง 10% ของการส่งออกทั้งหมด และจวนจะกลายเป็นหมายเลขหนึ่งแห่งบัญชีชื่อผู้นำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์ในไม่ ช้านี้ โดยที่ว่าในปัจจุบัน หมายเลขหนึ่งคือกลุ่มอียู ด้วยสัดส่วน 14.5% ตามด้วยหมายเลขสองคือ สหรัฐฯ 11%
     
       สำหรับในส่วนของภาคการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อนการพุ่งทะยานทาง เศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 44.5% ณ ไตรมาส 2/2010 จากเมื่อไตรมาสเดียวกันของหนึ่งปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม อัลวิน หลิว นักเศรษฐศาสตร์ประจำค่ายแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ชี้ไว้ว่าภาคการผลิตอาจจแตะจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2010 โดยที่ว่าตัวที่ยังเอาแน่ไม่ได้คือกลุ่มเวชภัณฑ์ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะไปทิศใด แถมยังอาจแกว่งตัวได้อย่างรุนแรง
     
       การผลิตในกลุ่มเวชภัณฑ์กระฉูดขึ้นไป 70% เมื่อช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งในความเห็นของเหลียงไวโฮ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสระดับภูมิภาคของค่ายบาร์เคลย์ส แคปิตอล ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ทูเดย์ ชี้ไว้ว่า ไม่มีแววที่เรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีกในระยะนี้ โดยอธิบายว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้วสะท้อนถึงการผันเปลี่ยนภายในโครงสร้างการผลิต จากแบบที่ว่าส่วนใหญ่เป็นการผลิตเวชภัณฑ์ภายใต้สิทธิบัตร ไปสู่แบบที่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเวชภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิบัตร
     
       นอกจากนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ระบุไว้ว่า จะมีการปิดโรงงานเพื่อการซ่อมบำรุงหลายเจ้า ซึ่งจะส่งผลเป็นการฉุดอัตราการโตโดยองค์รวม
     
       นอกจากกลุ่มเวชภัณฑ์แล้ว ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ส่งอานิสงส์แก่การขยายตัวร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ ภาคบริการที่มีอัตราขยายตัว 11.2% กลุ่มก่อสร้างที่โตขึ้นไป 11.5% และกลุ่มบริการทางการเงินอีก 10.2%
     
       อันที่จริง ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้รับอานิสงส์สำคัญจากแพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลเมืองลอดช่องนำมาใช้เมื่อต้นปี 2009 อันเป็นยุคที่ภาคการค้าของสิงคโปร์เกิดความซวนเซอย่างรุนแรงจากผลกระทบของ วิกฤตการเงินโลก
     
       และหลังจากนั้น รัฐบาลจึงเดินนโยบายสร้างเสถียรภาพแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนา ด้านการจับจ่ายภายในประเทศ พร้อมกับลดการพึ่งพิงภาคส่งออก แม้ตลอดที่ผ่านมา ภาคส่งออกเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนให้สิงคโปร์มีอัตราเติบโตทาง เศรษฐกิจฉูดฉาดที่สุดอันดับสามของโลกนับจากที่โลกประสบภาวะขาลง
     
       ต้องถือว่าสิงคโปร์ประสบความสำเร็จดังเป้าหมาย ความมั่นใจของผู้บริโภคทวีตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากที่มีการสร้างงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสี่ไตรมาส ที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อทรงตัวที่อัตราประมาณ 3% จนทำให้การจับจ่ายระดับภายในประเทศได้รับการอัดฉีดอย่างคึกคัก ในการนี้ ราคาบ้านได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริโภคต่อแนวโน้มอนาคตในทางบวก ดังปรากฏว่าระดับราคาเฉลี่ยสามารถกระโจนสูงขึ้นไป 5.2%
     
       ในด้านของการท่องเที่ยว ได้มีการกำหนดทิศทางการเติบโตให้แก่กลุ่มนี้ไว้ตั้งแต่ที่ประเทศยังไม่ได้ รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก กล่าวคือนับจากปลายปี 2007 ทางการเมืองลอดช่องกำหนดเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นแรงๆ ด้วยการอนุญาตการประกอบการของบ่อนกาสิโน
     
       ปัจจุบันนี้ นโยบายดังกล่าวได้ส่งอานิสงส์แล้ว ยอดนักท่องเที่ยว ณ เดือนมิถุนายน สามารถขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ หลังได้ตัวช่วยสำคัญคือ การเปิดตัวของสถานกาสิโนใหม่อันใหญ่โตอลังการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในไม่ช้าสถานกาสิโนแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งตามแผนส่งเสริม ก็จะเปิดตัวตามกันมา
     
       เมื่อนำภาพเศรษฐกิจแข็งแกร่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไปพิจารณาตามแนว การวิเคราะห์และทำนายของพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์หัวกะทิของโลกระดับรางวัลโนเบล และปัจจุบันมีคอลัมน์ประจำอยู่ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เราจะได้เห็นจุดอันตรายหลายประการเกี่ยวกับสิงคโปร์ที่สำคัญทีเดียว
     
       บทความของครุกแมนเกี่ยวกับเรื่องนี้มีชื่อว่า Myth of Asia’s Mircle (ความเชื่องมงายแห่งปาฏิหาริย์ของเอเชีย) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs ซึ่งจัดพิมพ์โดย US Council on Foreign Relations เมื่อ 16 ปีที่แล้วคือในปี 1944 และที่ผ่านมาก็ถูกนำไปเอ่ยถึงในบล็อกต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เท้าความถึงครุกแมนแม้จะเป็น ต้นแหล่งความคิดก็ตาม
     
       ครุกแมนฟันธงไว้ว่า “การเติบโตทั้งปวงของสิงคโปร์ (ช่วงนั้นคือ 8.5% ต่อปี)” นับจาก 1966 ถึง 1990 “สามารถอธิบายด้วยคำว่าการเพิ่มในด้านปัจจัยนำเข้า โดยไม่มีสัญญาณใดๆ เลยที่บ่งถึงถึงการเพิ่มในด้านประสิทธิภาพ” และครุกแมนสรุปว่า “การเติบโตของสิงคโปร์โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงในด้าน พฤติกรรมแบบที่เกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว (อาทิ การจ้างงานที่พุ่งขึ้นสองเท่า การเพิ่มด้านการศึกษา ฯลฯ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้” แบบสม่ำเสมอไปในภายภาคหน้า
     
       นอกจากนั้น ครุกแมนยังพูดถึงการที่สัดส่วนของมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ สูงถึง 40% ว่า “สูงมากอย่างน่าประหลาดใจไม่ว่าจะประเมินโดยมาตรฐานใดๆ และถ้าไปถึงระดับ 70% ก็ต้องถือว่าไร้ความสมเหตุสมผลเอาเลย” ดังนั้น “สิงคโปร์ไม่มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการโตในอนาคต ได้เท่ากับที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต”
     
       อันที่จริงแล้ว ในช่วงปี 2006-2009 การลงทุนทางตรงในสิงคโปร์มีสัดส่วนสูงถึง 70%-90% ของการลงทุนทั้งหมดบนประเทศเกาะแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จึงเป็นอะไรที่อ่อนไหวอย่างยิ่งยวดกับความ ผันผวนของการลงทุนทางตรง กระนั้นก็ตาม ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก สิงคโปร์ยังสามารถโตได้ราว 5%
     
       เมื่อตรวจสอบพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงหลังจากที่บท ความชิ้นนี้ของครุกแมนเผยแพร่ออกไป เราจะพบว่าสิงคโปร์มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยต่อปีที่ 6.4% นับจากปี 1996 – 2000 และเมื่อประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก สิงคโปร์แทบไม่โตขึ้นเลยเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงมีตัวเลขการเติบโตให้เห็นเป็นลำดับมา คือ 8.3% ในปี 2004 ตามด้วย 6.4%ในปี 2005 กับ 7.9% ในปี 2006 และ 2007 จากนั้นก็ถดถอยจนกลายเป็นว่าไม่มีการเติบโตเลยในปี 2008 โดยเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก
     
       ดังนั้น แม้สิงคโปร์สามารถขยายตัวพุ่งทะยานราวกับติดเทอร์โบในปีนี้ แต่วิสัยทัศน์ของครุกแมนก็มิใช่ว่าจะล้มละลาย อันที่จริงแล้วการที่ข้อเขียนปี 1994 ชิ้นนี้ของครุกแมนเกิดจะเป็นที่แพร่หลายขึ้นมาในขณะนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ลึกลับยากจะอธิบาย นอกเสียจากจะบอกว่า บทความนี้สามารถสร้างความคงแก่เรียนทรงภูมิให้แก่พวกที่ต้องการดูถูกดูหมิ่น แนวความคิดที่ว่าตลาดหลักทรัพย์ทางเอเชียและตลาดหลักทรัพย์ในโลกตะวันตก กำลัง “decoupling” (การแยกห่างจากกันของคู่ที่เคยอยู่เคียงข้างกัน)

No comments: